Author Archives: admin
สตาร์บัคส์ชวนใช้ถ้วยพลาสติก
สตาร์บัคส์ เชนร้านกาแฟสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยว่า บริษัทกำลังจะเปิดตัวถ้วยกาแฟพลาสติกดีไซน์ใหม่ที่เป็นถ้วยกาแฟรุ่นพิเศษสั่งผลิตในจำนวนจำกัด (ลิมิเต็ด อิดิชัน) ภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ หรือประมาณช่วงไตรมาส 3โดยถ้วยกาแฟพลาสติกดังกล่าวเป็นถ้วยชนิดที่สามารถใช้ซ้ำได้ประมาณ 30 ครั้ง แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะมองดูคล้ายถ้วยกาแฟกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ถ้วยพลาสติกนี้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ซ้ำอีกหลายครั้ง จึงเป็นการลดปริมาณขยะและประหยัดการใช้ทรัพยากร
ในส่วนของการออกแบบถ้วยดังกล่าว สตาร์บัคส์จัดให้มีการประกวด Starbucks White Cup Contest เปิดโอกาสให้ผู้สนใจ ออกแบบลวดลายต่างๆ ลงบนถ้วยพลาสติกสีขาวๆ อย่างไรก็ตามการประกวดครั้งนี้ มีขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้นและเปิดรับสมัครผลงานประกวดมาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน-12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึงเกือบๆ 4 พันชิ้นภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ผู้ที่ชนะการประกวดรางวัลที่ 1 คือ บริตา ลินน์ ทอมสัน นักศึกษาจากเมืองพิตส์เบิร์ก อายุ 20 ปี ผลงานของเธอเป็นถ้วยกาแฟลวดลายสีดำบนพื้นขาว ทั้งนี้ การประกวดเปิดกว้างสำหรับทุกๆดีไซน์และสีสัน ภายใต้โจทย์ที่ว่า ต้องมีโลโกสีเขียวของสตาร์บัคส์อยู่ในดีไซน์นั้นๆด้วย บางผลงานก็มีลวดลายหลากสีสัน บางผลงานก็มีเพียงสีเดียว บ้างก็มีเพียงลายเส้น แต่ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้ออกแบบ บริษัทได้คัดสรรผลงานที่มีความโดดเด่นที่สุดกว่า 300 ชิ้น ไปจัดแสดงไว้บนเว็บไซต์ Pinterest เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปชมผลงาน
ไรอัน เทอร์เนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโซเชียลมีเดียของสตาร์บัคส์ ให้ความเห็นว่า ดีไซน์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นผลงานการออกแบบที่น่าทึ่งอย่างมาก มีความโดดเด่นชัดเจน และแสดงออกถึงฝีมือซึ่งเป็นการวาดด้วยมือ แตกต่างไปจากทุกดีไซน์ที่เคยมีมา “มีผลงานส่งเข้ามาประกวดหลายพันชิ้น เป็นปริมาณที่มากมายเกินคาดและหลากหลายทั้งในแง่ลวดลายและความคิดสร้างสรรค์” ผู้บริหารของสตาร์บัคส์กล่าว
สำหรับเป้าหมายนั้น สตาร์บัคส์ต้องการสร้างสรรค์ถ้วยกาแฟที่นำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ลวดลายที่สวยงามจะทำให้มันดูดึงดูดใจ มีคุณค่า น่าเก็บไว้ใช้อีกบ่อยครั้ง บริษัทนำถ้วยกาแฟพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้อีกนี้มาเริ่มใช้ครั้งแรกในเดือนมกราคม 2556 เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้ถ้วยกาแฟกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งจะค่อยๆลดปริมาณการใช้ลง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,961
วันที่ 29 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
ไทยได้ประโยชน์จาก FTA อาเซียนทะลุ 8 หมื่นล้าน
สศอ. เผยประเทศไทยได้ประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA ปี 56 รวมกว่า 1 แสนล้านบาท โดยกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดกว่า 8 หมื่นล้านบาท พร้อมแนะยังมีช่องทางที่จะได้รับประโยชน์ในด้านภาษีได้เพิ่มอีกเท่าตัว ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในปี 2556 ที่ผ่านมา ภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA รวมมูลค่าภาษีที่ประหยัดได้ถึง 135,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 25,013 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดถึง 83,720 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่สามารถประหยัดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA มากที่สุดยังคงเป็นสินค้ากลุ่มยานยนต์ 39,569 ล้านบาท กลุ่มอาหาร 18,327 ล้านบาท และกลุ่มพลาสติก 11,291 ล้านบาท ขณะเดียวกันภาคนำเข้าได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA คิดเป็นมูลค่า 91,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 225 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากกลุ่มอาเซียนและจีน โดยสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุดถึง 39,383 ล้านบาท และ 33,908 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งสินค้านำเข้าที่สามารถประหยัดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA มากที่สุดได้แก่ กลุ่มอาหาร 12,052 ล้านบาท กลุ่มสินค้าเกษตร 10,135 ล้านบาท และกลุ่มยานยนต์ 9,320 ล้านบาท “หากมองในภาพรวมจะเห็นว่า แม้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าที่ค้าขายกับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์ในระดับสูง อย่างไรก็ดียังคงพบว่าผู้ประกอบการยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ในภาพรวมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไทยจะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นได้อีก 116,934 ล้านบาท และ 41,015 ล้านบาท ตามลำดับ” ดร.สมชายกล่าว ดร.สมชายกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสศอ. และทีดีอาร์ไอได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการระบุประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งพบว่าปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว ได้แก่ ลูกค้า (ผู้นำเข้าในประเทศคู่ค้า) ไม่ได้ขอใบ Certificate of origin (c/o) มา ปัญหาจากกระบวนการเอกสารขอใช้สิทธิ์ยุ่งยากและซับซ้อน และการตีความพิกัดสินค้าไม่ตรงกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามทาง สศอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในด้านการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA และได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินโครงการติดตามการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ฉบับต่างๆที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ หลายประเทศ อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น อนึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือได้อย่างเสรี และเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ของไทยกับประเทศคู่ค้าซึ่งจะช่วยได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีเพิ่มมากขึ้น |
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ AEC world
ประจำวันที่ 15-18 มิถุนายน 2557
ทีทีจีซีกล่อม'เนเจอร์เวิร์คส์'ตั้งรง.ในไทย
“พีทีทีจีซี” กล่อมทุนสหรัฐฯ”เนเจอร์เวิร์คส์”ลงทุนตั้งโรงงานพลาสติกชีวภาพในไทย ก่อนเบนเข็มไปมาเลเซียแทน ชักแม่น้ำทั้งห้าขอให้รอการเมืองจบทุกอย่างเดินหน้า คาดล่าช้าไม่ต่ำกว่า 2 ปี เผยโครงการร่วมทุนทำปิโตรคอมเพล็กซ์กับเปอร์ตามีน่าจะสรุปภายในปีนี้ และอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร 2-3 ราย ร่วมทุนต่อยอดเม็ดพลาสติกสู่โรงงานพลาสติกชนิดพิเศษคอมพาวด์กำลังการผลิตมากกว่า 1 แสนตันต่อปี
บวร วงศ์สินอุดมบวร วงศ์สินอุดม นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการร่วมทุนกับบริษัท เนเจอร์เวิร์คส์ แห่งสหรัฐฯ ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid หรือ PLA ขนาด 1.4 แสนตันต่อปี มูลค่าลงทุน 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ว่า ขณะนี้พีทีทีจีซีในฐานะผู้ถือหุ้นอยู่ 50 % พยายามเจรจากับทางเนเจอร์เวิร์คส์ เพื่อจะดึงแผนลงทุนก่อสร้างโรงงาน PLA เข้ามาตั้งในประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความล่าช้ามากว่า 1 ปีแล้ว และคาดว่าจะล่าช้าออกไปอีกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ได้ข้อยุติในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะลากยาวถึงปีหน้าก็ตาม แต่ทางพีทีทีจีซีจะพยายามดึงโครงการนี้เข้ามาตั้งในไทยให้ถึงที่สุด
โดยให้เหตุผลเรื่องความได้เปรียบด้านวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นอ้อย และมันสำปะหลัง ที่มีอย่างยั่งยืนเมื่อเทียบกับทางมาเลเซีย แม้ว่าปัญหาทางการเมืองจะทำให้ทางเนเจอร์เวิร์คส์กังวลบ้าง แต่ในระยะยาวเมื่อการเมืองนิ่งจะทำให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ เหตุผลดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ทางเนเจอร์เวิร์คส์ ยังคงรอให้สถานการณ์ทางการเมืองยุติ และตัดสินใจเข้ามาลงทุน เพราะเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับมาเลเซีย รวมทั้งเชื่อว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โครงการ PLA ก็จะถูกสานต่ออย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และในอนาคตจะขยายเพื่อให้ครบวงจรด้วย ซึ่งเชื่อว่าเนเจอร์เวิร์คส์ยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยอยู่
ส่วนความคืบหน้าโครงการร่วมทุนกับเปอร์ตามีน่า เพื่อทำโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ ที่เมืองบาลองกัน ประเทศอินโดนีเซีย โดยตามแผนจะตั้งโรงงานแครกเกอร์ ขนาดกำลังการผลิตเอทิลีน 1 ล้านตันต่อปี เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มูลค่าลงทุน 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการในอินโดนีเซียที่ปัจจุบันต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ในกลุ่ม PE และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจำนวนมาก คาดว่าโครงการร่วมทุนดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2558
สำหรับโครงการร่วมทุนกับ Sinochem ของจีน เพื่อศึกษาการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ในประเทศจีน รวมทั้งการทำการตลาดร่วมกัน ขณะนี้การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าจะสรุปภายในปีนี้เช่นกัน
นายบวร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พีทีทีจีซียังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย อาทิ จีน ยุโรป และสหรัฐฯ เพื่อร่วมทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ขนาดมากกว่าระดับ 1 แสนตันต่อปี เพื่อป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการคัดเลือกพันธมิตรดังกล่าวบริษัทต้องการผู้ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและมีตลาดอยู่แล้ว เนื่องจากการผลิตพลาสติกคอมพาวด์เป็นการนำเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันมาผสมเพื่อให้เกิดพลาสติกตามที่ลูกค้าต้องการ อาทิ พลาสติกที่สามารถขึ้นรูปได้ทันที ดังนั้นด้านเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถสรุปได้อย่างน้อย 2 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่พีทีทีจีซีลงทุนเอง 1 โครงการ และโครงการร่วมทุนอีก 1 โครงการ
“พีทีทีจีซีต้องการเพิ่มมูลค่าเม็ดพลาสติก โดยคอมพาวด์นั้น จะนำเม็ดพลาสติกที่ต่างคุณสมบัติมาผสมกันเพื่อให้เกิดความพิเศษ ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้เม็ดพลาสติกคอมพาวด์ที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 19 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่ความต้องการอยู่ในตลาดเอเชีย 12 ล้านตัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 ล้านตัน ดังนั้นการตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกคอมพาวด์นี้จะรองรับความต้องการใช้ในประเทศและส่งออก โดยพลาสติกเกรดพิเศษมีมาร์จิน 8-30%”นายบวร กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะสูงกว่าไตรมาสแรกปีนี้ที่มีกำไรสุทธิ 6.2 พันล้านบาท มาจากการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถจ่ายก๊าซได้ตามปกติ ทำให้กำลังการผลิตโรงงานของพีทีทีจีซีอยู่ที่ 90% จากไตรมาสก่อนที่เดินเครื่องจักรเพียง 77% ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาโอเลฟินยังเพิ่มขึ้น โดยสเปรดในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ อยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนกลุ่มอะโรแมติก โดยเฉพาะพาราไซลีน คาดว่าราคายังไม่ค่อยดีนัก สเปรดเฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ 320 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ดังนั้นภาพรวมในปีนี้ก็น่าจะเติบโตจากปีก่อนเช่นกัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,950 วันที่ 22 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557