ทีทีจีซีกล่อม'เนเจอร์เวิร์คส์'ตั้งรง.ในไทย

“พีทีทีจีซี” กล่อมทุนสหรัฐฯ”เนเจอร์เวิร์คส์”ลงทุนตั้งโรงงานพลาสติกชีวภาพในไทย ก่อนเบนเข็มไปมาเลเซียแทน ชักแม่น้ำทั้งห้าขอให้รอการเมืองจบทุกอย่างเดินหน้า คาดล่าช้าไม่ต่ำกว่า 2 ปี เผยโครงการร่วมทุนทำปิโตรคอมเพล็กซ์กับเปอร์ตามีน่าจะสรุปภายในปีนี้ และอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร 2-3 ราย ร่วมทุนต่อยอดเม็ดพลาสติกสู่โรงงานพลาสติกชนิดพิเศษคอมพาวด์กำลังการผลิตมากกว่า 1 แสนตันต่อปี
บวร วงศ์สินอุดมบวร วงศ์สินอุดม นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการร่วมทุนกับบริษัท เนเจอร์เวิร์คส์ แห่งสหรัฐฯ ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid หรือ PLA ขนาด 1.4 แสนตันต่อปี มูลค่าลงทุน 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ว่า ขณะนี้พีทีทีจีซีในฐานะผู้ถือหุ้นอยู่ 50 % พยายามเจรจากับทางเนเจอร์เวิร์คส์ เพื่อจะดึงแผนลงทุนก่อสร้างโรงงาน PLA เข้ามาตั้งในประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความล่าช้ามากว่า 1 ปีแล้ว และคาดว่าจะล่าช้าออกไปอีกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ได้ข้อยุติในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะลากยาวถึงปีหน้าก็ตาม แต่ทางพีทีทีจีซีจะพยายามดึงโครงการนี้เข้ามาตั้งในไทยให้ถึงที่สุด
โดยให้เหตุผลเรื่องความได้เปรียบด้านวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นอ้อย และมันสำปะหลัง ที่มีอย่างยั่งยืนเมื่อเทียบกับทางมาเลเซีย แม้ว่าปัญหาทางการเมืองจะทำให้ทางเนเจอร์เวิร์คส์กังวลบ้าง แต่ในระยะยาวเมื่อการเมืองนิ่งจะทำให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ เหตุผลดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ทางเนเจอร์เวิร์คส์ ยังคงรอให้สถานการณ์ทางการเมืองยุติ และตัดสินใจเข้ามาลงทุน เพราะเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับมาเลเซีย รวมทั้งเชื่อว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โครงการ PLA ก็จะถูกสานต่ออย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และในอนาคตจะขยายเพื่อให้ครบวงจรด้วย ซึ่งเชื่อว่าเนเจอร์เวิร์คส์ยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยอยู่
ส่วนความคืบหน้าโครงการร่วมทุนกับเปอร์ตามีน่า เพื่อทำโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ ที่เมืองบาลองกัน ประเทศอินโดนีเซีย โดยตามแผนจะตั้งโรงงานแครกเกอร์ ขนาดกำลังการผลิตเอทิลีน 1 ล้านตันต่อปี เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มูลค่าลงทุน 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการในอินโดนีเซียที่ปัจจุบันต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ในกลุ่ม PE และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจำนวนมาก คาดว่าโครงการร่วมทุนดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2558
สำหรับโครงการร่วมทุนกับ Sinochem ของจีน เพื่อศึกษาการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ในประเทศจีน รวมทั้งการทำการตลาดร่วมกัน ขณะนี้การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าจะสรุปภายในปีนี้เช่นกัน
นายบวร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พีทีทีจีซียังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย อาทิ จีน ยุโรป และสหรัฐฯ เพื่อร่วมทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ขนาดมากกว่าระดับ 1 แสนตันต่อปี เพื่อป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการคัดเลือกพันธมิตรดังกล่าวบริษัทต้องการผู้ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและมีตลาดอยู่แล้ว เนื่องจากการผลิตพลาสติกคอมพาวด์เป็นการนำเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันมาผสมเพื่อให้เกิดพลาสติกตามที่ลูกค้าต้องการ อาทิ พลาสติกที่สามารถขึ้นรูปได้ทันที ดังนั้นด้านเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถสรุปได้อย่างน้อย 2 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่พีทีทีจีซีลงทุนเอง 1 โครงการ และโครงการร่วมทุนอีก 1 โครงการ
“พีทีทีจีซีต้องการเพิ่มมูลค่าเม็ดพลาสติก โดยคอมพาวด์นั้น จะนำเม็ดพลาสติกที่ต่างคุณสมบัติมาผสมกันเพื่อให้เกิดความพิเศษ ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้เม็ดพลาสติกคอมพาวด์ที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 19 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่ความต้องการอยู่ในตลาดเอเชีย 12 ล้านตัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 ล้านตัน ดังนั้นการตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกคอมพาวด์นี้จะรองรับความต้องการใช้ในประเทศและส่งออก โดยพลาสติกเกรดพิเศษมีมาร์จิน 8-30%”นายบวร กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะสูงกว่าไตรมาสแรกปีนี้ที่มีกำไรสุทธิ 6.2 พันล้านบาท มาจากการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถจ่ายก๊าซได้ตามปกติ ทำให้กำลังการผลิตโรงงานของพีทีทีจีซีอยู่ที่ 90% จากไตรมาสก่อนที่เดินเครื่องจักรเพียง 77% ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาโอเลฟินยังเพิ่มขึ้น โดยสเปรดในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ อยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนกลุ่มอะโรแมติก โดยเฉพาะพาราไซลีน คาดว่าราคายังไม่ค่อยดีนัก สเปรดเฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ 320 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ดังนั้นภาพรวมในปีนี้ก็น่าจะเติบโตจากปีก่อนเช่นกัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,950 วันที่ 22 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Show Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>